กลับหน้าหลัก
Thai

English

Home
ฟอร์นขนาดเล็ก ฟอร์นขนาดกลาง ฟอร์นขนาดใหญ่

วิธีการเก็บรักษาเหรียญ

 

การเก็บรักษาเหรียญคุณค่าของเหรียญโดยทั่วไปแล้ว จะถูกกำหนดโดยสภาพความสมบูรณ์ เหรียญเก่าที่มีสภาพเหมือนกับที่เพิ่งผลิตออกมาจากโรงกษาปณ์ใหม่ๆย่อมมีคุณค่าสูงกว่า เหรียญชนิดเดียวกัน ที่ถูกใช้มานานจนเกิดรอยขูดขีด ชำรุด หรือ มีตำหนิ เงินโบราณหลายชนิด เช่น เงินพดด้วง เงินเจียง เงินกรีก โรคุณ ซึ่งมีอายุนับร้อย จนถึงหลายพันปี ซึ่งถูกขุดขึ้นมา ด้วยผ่านกาลเวลาอันยาวนาน แล้งตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบันย่อมผ่านการใช้จ่ายมามากบ้าง น้อยบ้าง หรือไม่ได้ถูกใช้เลยก็มี สภาพของเหรียญเหล่านี้จึงต่างกันคุณค่าก็ต่างกันไปตามสภาพเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันนี้ มีผู้นิยมสะสมเหรียญเพิ่มมากขึ้น นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่จะได้มาร่วมกันอนุรักษ์ เก็บรักษาเหรียญ อันเปรียบเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ให้คงสภาพเดิมในปัจจุบันให้ยาวนานที่สุด

เหรียญกษาปณ์ และเหรียญที่ระลึก ล้วนทำด้วยโลหะ ซึ่งคงทนต่อสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน ได้ดีกว่าแสตมป์ และ ธนบัตรการเก็บรักษาเหรียญเหล่านี้ จึงง่ายคลายกังวลลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้เหรียญเสื่อมสภาพลงโดยที่คาดไม่ถึงได้ เพื่อให้คุณค่าของเหรียญไม่ลดลง โดยไม่ได้ตั้งใจ จึงขอเสนอเหตุปัจจัย ที่ทำให้เหรียญเสื่อมสถาพลง พร้อมทั้งวิธีการเก็บรักษา เพื่อให้เหรียญคงสภาพเดิมได้นานที่สุด หรือเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพ ให้ได้ยาวนานที่สุดไม่ให้เสียหายเพราะน้ำมือของเราเอง

ปัจจัยที่ทำให้เหรียญเสื่อมสภาพ
  1. ความชื้น
  2. น้ำ
  3. ความร้อน
  4. แสงสว่าง
  5. อากาศ
  6. สารเคมี อันประกอบด้วย กรด ด่าง
  7. เหงื่อ
  8. สัตว์ต่างๆ เช่น มด หนู แมลงสาบ
  9. ฝุ่นละออง
  10. การตกหล่น กระทบกระแทก และการขัดถูเหรียญ
  11. ไฟ
วิธีการเก็บรักษาเหรียญ
  1. เก็บในที่ๆ อากาศแห้งที่สุด โดยใช้ถุง หรือ ภาชนะอื่นที่ปิสนิท อากาศเข้าไม่ได้ แล้วใช้สารดูดความชื้น ที่ไม่มีไอพิษเช่น ซิลิกาเจล ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้ต่ำกว่า 45% ไม่ควรเก็บไว้ในห้องอับชื้น อันอาจเกิดเห็ด รา หรือเป็นทำรังของมดปลวกได้ เก็บในที่ๆควบคุมอุณหภูมิได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บไว้ในห้องที่ปรับอากาศบางเวลาเพราะว่าเมื่อปิดเครื่องปรับอากาศแล้ว จะทำให้หยดน้ำมาเกาะที่ผิวเหรียญได้
  2. หมั่น ตรวจตราดูแลความสะอาดบริเวณที่เก็บ ไม่ให้มีเศษอาหารตกค้าง ไม่ให้รกรุงรัง เป็นที่อาศัยของ มด หนู และแมลงต่างๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบรรยากาศ โดยใส่ตลับ ซองพลาสติก หรือ ซองเหรียญ (Mount) แล้วปิดผนึกไม่ให้อากาศเข้าได้ไม่ควรผนึกแน่นเกินไปจนกดทับตัวเหรียญ
  3. ไม่วางทับซ้อนกัน ควรวางแยกจากกัน ระวังไม่ให้เหรียญกระทบ ขูดขีดกัน
  4. ไม่ควรเคลือบผิวเหรียญด้วยสารใดๆ เพราะทำให้สารเหล่านี้ ติดกับผิวเหรียญ เมื่อลอกออก จะทำให้ผิวเสียหายได้
  5. การ หยิบจับ ควรใช้ถุงมือป้องกันเหงื่อติดตัวเหรียญ หรือ ถ้าต้องใช้มือจับ ควรจับที่ขอบเหรียญ โดยล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งเสียก่อน เมื่อหยิบจับควรระวังไม่ให้ตก เมื่อเคลื่อนย้ายควรวางบนถาด ที่ปูด้วยผ้านุ่มที่ปราศจากสารเคมี
  6. ห้ามใช้กาว หรือ เทปกาว ติดตัวเหรียญ
  7. ตู้เก็บหรือตู้จัดแสดง ต้องปราศจากสารระเหย เช่น แลคเกอร์ หรือ ยาฆ่าแมลง และ ต้องปิดสนิท
  8. ตู้ เก็บเหรียญเงิน ควรอยู่ห่างพื้นดินมากๆ ไม่ควรอยูใกล้ห้องน้ำ ท่อระบายน้ำ และ น้ำเน่า ฐานตู้จัดแสดงควรใช้ผ้าชุบสารละลายตะกั่วอาซีเตท (PbAcO) เพื่อป้องกันก๊าซไข่เน่า จากบรรยากาศที่ทำให้ผิวเงินดำได้ ไม่เก็บเหรียญที่เป็นสนิมปะปนกับเหรียญสภาพดี เพราะสนิมสามารถลามไปติดเหรียญได้ ยิ่งถ้าร้อนชื้น จะทำให้เกิดสนิมเร็วขึ้น
วิธีการทำความสะอาดเหรียญ

การเก็บรักษา เหรียญ เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ขึ้นกับเหรียญ แต่ถ้าเหรียญสกปรกเสียหาย เหมือนกับเกิดโรคขึ้นแล้ว จำเป็นต้องใช้ยารักษา คือ การทำความสะอาด อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้คุณค่าของเหรียญลดลง โดยเฉพาะ เหรียญที่ทำปฏิกิริยากับอากาศนานๆ จนมีสี (Toning) แสดงถึงความเก่าแก่ อันเป็นที่นิยมมากในยุโรบ และอเมริกา อย่างไรก็ตามเหรียญที่สกปรกมากๆ อาจทำความสะอาดได้ โดยล้างอย่างระวัง ในน้ำสบู่ หรือ แปรงขนอ่อนปัดเบาๆ ใช้สำลีนุ่มๆ ห้ามแช่ในน้ำกรดส้มมะขาม หรือมะนาวเด็ดขาดข้อพึงสังวรคือ การทำความสะอาดนั้น แท้จริงแล้วเป็นการทำลายความเป็น "ผิวเดิม" ของเหรียญอย่างที่ไม่สามารถกลับคืนมาได้อีก นอกจากนั้น เดี๋ยวนี้มีน้ำยาล้างเหรียญเงิน ที่มีสารไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงทั้งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ จึงต้องระมัดระวัง ทั้งไม่แช่นานเกินไป จนผิวถูกกัดกร่อน ควรใช้น้ำยานี้ทำความสะอาดเหรียญที่สกปรกเท่านั้น ไม่ควรใช้กับเหรียญดีผิวเดิม