เงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ

 



 
เงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ
 
 
 

คณะกรรมการเงินทุนหมุนเวียนฯ

1.

อธิบดีกรมธนารักษ์ ประธานกรรมการ  
 

2.

รองอธิบดีกรมธนารักษ์ (ด้านเหรียญกษาปณ์) กรรมการ  
 

3.

ผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการ  
 

4.

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ  
 

5.

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรรมการ  
 

6.

ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ  
 

7.

ผู้อำนวยการกองแผนงาน หรือผู้แทน กรรมการ  
 

8.

นายเทวัญ วิชิตะกุล (ผู้ทรงคุณวุฒิ) กรรมการ  
 

9.

ผู้อำนวยการสำนักกษาปณ์ (ผู้บริหารเงินทุนหมุนเวียน) กรรมการและเลขานุการ


 
ความเป็นมาและระเบียบเงินทุนฯ
 

        เพื่อให้สำนักกษาปณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวและทำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระของรัฐในด้านงบประมาณประจำปี กรมธนารักษ์จึงได้จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนขึ้น ประกอบด้วย
  • เงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 ได้รับจัดสรรเงินจัดตั้งเงินทุน จำนวนเงิน 80 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้หมุนเวียนให้เพียงพอต่อความต้องการในระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 หมวด 1 ว่าด้วยเงินตราและหน่วยของเงินตรา มาตรา 10 กำหนด "ให้กระทรวงการคลังจัดทำและนำออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์....."
  • เงินทุนหมุนเวียนการทำของ จัดตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ โดยได้รับจัดสรรเงินจัดตั้งเงินทุน จำนวน 138,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำ เหรียญที่ระลึก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องหมายตอบแทน และของสั่งจ้างต่าง ๆ
        ต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมธนารักษ์รวมเงินทุนหมุนเวียนทั้งสองเข้าด้วยกันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2543 และได้ออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ พ.ศ. 2546 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546 มาจนถึงปัจจุบัน

ระเบียบกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ .. 2546

 

โดยที่เป็นการสมควรรวมเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และเงินทุนหมุนเวียนการทำของ ของกรมธนารักษ์เข้าด้วยกันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2543 กระทรวงการคลังจึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ พ.ศ. 2546”
ข้อ 2 ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิก
(1) ระเบียบกรมธนารักษ์เรื่องระเบียบเงินทุนหมุนเวียนการทำของ พ.ศ. 2523
(2) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญเหรียญกษาปณ์ พ.ศ. 2525
ข้อ 4 เงินทุนหมุนเวียนนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) ผลิตเหรียญกษาปณ์ รวมทั้งนำตัวเหรียญชำรุดส่งคืนมายุบหลอมใหม่และการล้างตัวเหรียญที่ใช้แล้ว ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพเหรียญกษาปณ์ด้วย
(2) รับจ้างทำเครื่องราชอิสริยาภรณ์เครื่องหมายตอบแทน เหรียญพระ เหรียญที่ระลึกต่างๆ และผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับพิมพ์แบบฟอร์มและเอกสารต่างๆ ให้กับส่วนราชการ องค์การ รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน เอกชน และบุคคลทั่วไป
(3) ผลิต จำหน่าย และซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องจักรที่ใช้ในการตรวจนับ ตรวจสอบ เก็บรักษาสิ่งของมีค่า ตลอดจนอะไหล่และอุปกรณ์ของสิ่งของดังกล่าว
ข้อ 5 การผลิตเหรียญกษาปณ์จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ผลิตเหรียญกษาปณ์แต่ละชนิดราคาตามปริมาณที่อธิบดีกรมธนารักษ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสั่ง
(2) เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตได้ ให้สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ เป็นผู้นำออกจ่ายแลกตามราคาหน้าเหรียญหรือราคาจำหน่าย
(3) ให้สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของทุกวัน หรืออย่างช้าต้องไม่เกิน 3 วันทำการ ถัดไป
(4) ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน ให้กรมธนารักษ์โอนเงินจากเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์
และการทำของ เข้ารายได้แผ่นดินในอัตราร้อยละ 70 ของผลต่างระหว่างราคาที่จำหน่ายจ่ายแลกกับ ต้นทุนการผลิตที่กรมธนารักษ์ประมาณขึ้น และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังในแต่ละครั้งแล้ว
ข้อ 6 ให้กรมธนารักษ์เปิดบัญชีเงินทุนหมุนเวียนไว้ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเรียกว่า "เงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ” เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานให้มีบัญชีเงินฝากไว้ ที่ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อไว้ใช้จ่ายในกิจการได้ ภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง
 
ข้อ 7 เงินที่จะนำเข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนนี้ มีดังต่อไปนี้
(1) เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์
(2) เงินที่ได้รับจากการดำเนินงานตามข้อ 4
(3) เงินที่ได้รับจากเงินทุนหมุนเวียนการทำของตามระเบียบกรมธนารักษ์เรื่องระเบียบเงินทุน หมุนเวียนการทำของ พ.ศ. 2523 และเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์ พ.ศ. 2525
(4) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่าย
(5) เงินรับจากผลประโยชน์หรือดอกผลจากสินทรัพย์ของเงินทุน
(6) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินรับบริจาค เงินสนับสนุน หรือเงินอื่นๆ เงินรับต่างๆ ให้นำส่งบัญชีเงินฝากที่กระทรวงการคลังทุกวันทำการ หรืออย่างช้าไม่เกิน 3 วัน ทำการถัดไป
ข้อ 8 ให้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนได้เฉพาะในกิจการของเงินทุนหมุนเวียน ภายในวงเงินและประมาณการ รายจ่ายที่ได้รับอนุมัติตามหมวดรายจ่าย ดังนี้
(1) หมวดค่าจ้างประจำ (เฉพาะการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ข้อ 4 (2) )
(2) หมวดค่าจ้างชั่วคราว
(3) หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ
(4) หมวดค่าครุภัณฑ์ (เฉพาะการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ข้อ 4)
(5) หมวดค่ารายจ่ายอื่นๆ ตามที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังเป็นเฉพาะราย
ข้อ 9 ให้กรมธนารักษ์จัดทำประมาณการรายรับ – รายจ่ายประจำปีของเงินทุนหมุนเวียนเสนอ กระทรวงการคลังเพื่อให้ความเห็นชอบตามวิธีการและระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนด
 
ข้อ 10 วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การนำส่งเงิน และการเก็บรักษาเงินในกิจการของเงินทุนหมุนเวียนให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ สำหรับวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการพัสดุ และการก่อหนี้ผูกพันให้ถือปฏิบัติตามระเบียบที่กรมธนารักษ์กำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
ข้อ 11 จัดให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และรายงานผลการตรวจสอบตามที่อธิบดีกรมธนารักษ์กำหนด
 
ข้อ 12 การบัญชีให้ปฏิบัติตามหลักบัญชีคู่เกณฑ์คงค้างที่สอดคล้องกับหลักการ และนโยบายบัญชี สำหรับหน่วยงานรัฐ การปิดบัญชีให้กระทำปีละหนึ่งครั้งโดยถือปีงบประงบประมาณเป็นรอบปีบัญชี
เมื่อปิด บัญชีแล้วให้ส่งงบการเงินพร้อมทั้งรายละเอียดประกอบงบการเงิน ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ และให้จัดส่งรายงานดังกล่าวให้กระทรวงการคลังทราบ
 
ข้อ 13 ให้อธิบดีกรมธนารักษ์มีอำนาจออกระเบียบเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบนี้  
 
ข้อ 14 ในกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง
 
ข้อ 15 การดำเนินการของเงินทุนใด ( เงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และเงินทุนหมุนเวียนการทำของ) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่แล้วเสร็จในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เดิม จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จหรือจนกว่าจะสามารถดำเนินการตามระเบียบนี้ได้
 
 
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
 
 
สุชาติ เชาว์วิศิษฐ
 
(ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง