กลับหน้าหลัก
Thai

English

Home
ฟอร์นขนาดเล็ก ฟอร์นขนาดกลาง ฟอร์นขนาดใหญ่

เงินตรา

 

เงินตรา คือ วัตถุที่ใช้ในการแลกขายซื้อเปลี่ยน เป็นตัวแทนการวัดมูลค่าของสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน เงินตราในอดีตเริ่มจากการใช้เปลือกหอย อัญมณี พัฒนามาเป็นโลหะ ปัจจุบัน ใช้เป็น เหรียญกษาปณ์ และ ธนบัตร

ดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อน พุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อกับชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้สื่อกลางใน การแลกเปลี่ยนหลายรูปแบบ เช่น ลูกปัด เปลือกหอย เมล็ดพืช เป็นต้น สำหรับชนชาติไทยสันนิษฐานว่าได้มีการนำโลหะเงินมาใช้เป็นเงินตรามาตั้งแต่ใน สมัยสุโขทัย เรียกกันว่า เงินพดด้วง ซึ่งมีเอกลักษณ์ เป็นของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึงความเจริญของชนชาติไทยที่ได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้เองเป็น เวลาหลายร้อยปีจวบจนมีการนำเงินเหรียญตามแบบสากลเข้ามาใช้
 

เงินตรา ฟูนัน

อาณาจักรฟูนันก่อตัวขึ้นบริเวณทางใต้ของลุ่มน้ำโขง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 และล่มสลายลง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 จากการโจมตีของพวกเจนละ อาณาจักรฟูนันได้รับอารยธรรมด้านการปกครองโดยกษัตริย์ และการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูจากอินเดีย เงินตราที่ใช้จะมีสัญลักษณ์ เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครอง และศาสนา โดยมีลักษณะเป็นเหรียญเงินด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์พระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมี อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระศรีวัตสะ กลองบัณเฑาะว์ที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่างๆ และมีเครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งหมายถึงความโชคดี

 

เงินตรา ทวารวดี

อาณาจักรทวารวดีเริ่มมีความสำคัญขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 และล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางการปกครองอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม การปกครองยังคงอยู่ในระบบกษัตริย์ ประชาชนนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน เงินตราที่พบยังคงมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ อำนาจการปกครอง ความอุดมสมบูรณ์ และศาสนา เช่น เหรียญเงินด้านหนึ่งเป็นรูปบูรณกลศ (หม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม) ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกด้านเป็นภาษาสันสกฤตโบราณ อ่านว่า "ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ" แปลว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี" เป็นต้น

 

เงินตรา ศรีวิชัย

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 การค้าทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้เมืองที่อยู่บน คาบสมุทรสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไชยา และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดกลางของสินค้าจากทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย ทางฝั่งตะวันตก และสินค้าจากจีน ขอม ทวารวดี ทางฝั่งตะวันออก มีความสำคัญขึ้นเช่นกัน จนในที่สุดดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตราได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัย การปกครองได้ใช้ระบบพระมหากษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เงินตราที่ใช้ทำด้วยเงินและทองคำ มี 2 ชนิด คือ "เงินดอกจัน" ด้านหนึ่งมีลวดลายเป็นรูปสี่แฉก อีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตว่า "วร" แปลว่า "ประเสริฐ" เงินตราอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "เงินนโม" ด้านหนึ่งมีร่องเล็กๆ คล้ายเมล็ดกาแฟอีกด้านหนึ่งเป็น ภาษาสันสกฤตว่า "น" ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือพุทธศาสนา จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร "น" ว่า "เงินนโม" อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงในพุทธศตวรรษที่ 18

 

เงินตรา สุโขทัย

ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยถือกำเนิดขึ้น ได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนนาน น่านเจ้า และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ โดยที่ ราชอาณาจักรสุโขทัยได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ คือ เงินพดด้วง นอกจากนี้ยังใช้ "เบี้ย" เป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำ

เงินพดด้วงสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี โดยทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากันแล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง คนไทยจึงเรียกว่าเงินพดด้วง ขณะที่ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า เงินลูกปืน (BULLET MONEY) เงินพดด้วงถือได้ว่าเป็นเงินที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนเงินตราตระกูลใดในโลก ในสมัยสุโขทัย เงินพดด้วงมักมีตราประทับไว้มากกว่า 2 ดวง และเป็นรูปสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น

 

เงินตรา สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยนี้ยังคงใช้เงินพดด้วงเป็นเงินตรา แต่หลวงผูกขาดในการผลิต เงินพดด้วงในสมัยนี้ คล้ายเงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย แต่ตรงปลายขาที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนเงินพดด้วงสุโขทัย ตราที่ประทับส่วนใหญ่เป็นตราจักรและตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง ราชวัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น

 

เงินตรา สมัยกรุงธนบุรี

ในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงเก่า สันนิษฐานว่ามีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เพียง 2 ชนิดคือ เงินพดด้วงตราตรีศูลและตราทวิวุธ

 

เงินตรา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี มาอยู่ฝั่งตรงข้ามคือ กรุงเทพมหานคร และสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น เงินตราที่ใช้ในยุคต้นๆ ยังคงใช้เงินพดด้วง โดยที่ตราประทับบนเงินพดด้วงคือตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน และตราประจำรัชกาล ซึ่งได้แก่

  • รัชกาลที่ 1 ตราบัวอุณาโลม
  • รัชกาลที่ 2 ตราครุฑ
  • รัชกาลที่ 3 ตราปราสาท
  • รัชกาลที่ 4 ตรามงกุฏ
  • รัชกาลที่ 5 ตราพระเกี้ยว

 

สมัยรัชกาลที่ 1

เงินพดด้วงในรัชกาลนี้ เดิมประทับตราจักร และตราตรีศูล แต่หลังจากบรมราชาภิเษกแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเงินพดด้วงประจำรัชกาลแล้วประทับตราพระแสงจักร-บัวอุณาโลม

 

สมัยรัชกาลที่ 2

ตราที่ประทับบนเงินพดด้วย คือ ตราจักรและตราครุฑ สันนิษฐานว่าตราครุฑ มาจากพระนามเดิมของรัชกาลที่ 2 คือ "ฉิม" ซึ่งเป็นวิมานของพญาครุฑ

 

สมัยรัชกาลที่ 3

ตราปราสาทเป็นตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 3 ผลิตเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติในปี พ.ศ. 2367 นอกจากนี้ยังมีการผลิตเงินพดด้วงเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญๆ ประทับตราต่างๆ เช่น ดอกไม้ ครุฑเสี้ยว ใบมะตูม และเฉลว เป็นต้น ส่วนการจัดทำเงินเหรียญขึ้นใช้ตามแบบสากลนิยมนั้น มีแนวคิดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ สั่งจัดทำตัวอย่างเหรียญทองแดงส่งเข้ามา แต่ยังไม่โปรดเกล้าฯ ให้นำออกใช้

 

สมัยรัชกาลที่ 4

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้นและได้นำเงินเหรียญของตนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทยเพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ

ในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า "เหรียญเงินบรรณาการ" ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินจากบริษัท เทเลอร์ เข้ามาในปลายปี 2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า "โรงกระสาปณ์สิทธิการ" ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่มีการนำธนบัตรออกใช้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นมา

 

สมัยรัชกาลที่ 5

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่สำคัญ พระองค์มีพระราชดำริว่า มาตราของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณ และการจัดทำบัญชี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงใหม่ โดยใช้หน่วยเป็นบาท และสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

 

สมัยรัชกาลที่ 6

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระ
ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้แต่ไม่มี การเปลี่ยนแปลงรูปแบบมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ที่มีราคาไม่สูงนัก คือ 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, 5 สตางค์, และ 1 สตางค์

ในช่วงต้นรัชกาลยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในรัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงโปรดเกล้าฯให้ผลิตเหรียญเงินหนึ่งบาทประจำรัชกาล เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต

 

สมัยรัชกาลที่ 7

ในรัชกาลนี้มีการผลิตเหรียญหมุนเวียนออกใช้ไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหรียญประจำรัชกาลที่นำออกใช้เป็นเหรียญชนิดราคา 50 และ 25 สตางค์ ตราพระบรมรูป-ช้างทรงเครื่อง

 

สมัยรัชกาลที่ 8

เหรียญประจำรัชกาลที่ผลิตออกใช้หมุนเวียน เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-พระครุฑพ่าห์ ชนิดราคา 50, 25, 10 และ 5 สตางค์ มี 2 รุ่น คือ รุ่นแรกมีพระบรมรูปเมื่อครั้นเจริญพระชนมพรรษา

 

 

สมัยรัชกาลที่ 9

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในรัชกาลปัจจุบัน มี 8 ชนิดราคา คือ 1 สตางค์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหน่วยงานต่าง ๆ โดยผลิตทั้งเหรียญประเภทธรรมดาและเหรียญประเภทขัดเงา

 

มาตราเงินไทย

(มาตราเงินไทยโบราณ)

จากภาพจะเห็นว่า ตำลึงอยู่บนเฟื้อง, บาทอยู่บนสลึง, ไพอยู่ใต้ชั่ง เมื่อเรียงตามมูลค่าจะเป็น ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ มีพิกัดอัตรา ดังต่อไปนี้

  • 800 เบี้ย เป็น 1 เฟื้อง
  • 50 เบี้ย เป็น 1 โสฬส(สิบหก) 16 โสฬส เป็น 1 เฟื้อง
  • 2 โสฬส เป็น 1 อัฐ(แปด) 8 อัฐ เป็น 1 เฟื้อง
  • 2 อัฐ เป็น 1 เสี้ยวหรือไพ 4 อัฐ เป็น 1 เฟื้อง
  • 2 เสี้ยวหรือไพ เป็น 1 ซีก 2 เสี้ยวหรือไพ เป็น 1 เฟื้อง
  • 2 ซีก เป็น 1 เฟื้อง 8 เฟื้อง เป็น 1 บาท
  • 2 เฟื้อง เป็น 1 สลึง 4 สลึง เป็น 1 บาท
  • 1 มายนหรือมะยง เป็น กึ่งบาท หรือ 2 สลึง
  • 4 บาท เป็น 1 ตำลึง
  • 20 ตำลึง เป็น 1 ชั่ง
  • 80 ชั่ง เป็น 1 หาบ

; ;

ที่มาสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
E-mail : bnt@treasury.go.th

-----

เงินตราสยาม มีความหลากหลายในรูปพรรณและสัณฐาน มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง วิวัฒนาการของเงินตราไทยจึงย้อนอดีตไป ตั้งแต่สมัยก่อนที่มนุษย์จะรู้จักใช้เงินตรา และมีการนำสิ่งของต่างๆมาใช้แทนเงินตรา เช่น เปลือกหอย ลูกปัด กำไล หิน ขวานหิน เป็นต้น โดยนำมาใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยน

 

เงินตราในยุคแรกเริ่ม

ได้มีการขุดพบเงินตราในยุคแรกเริ่ม ในบริเวณที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ เหรียญเงินฟูนัน ทวารวดี และศรีวิชัย ( เงินนโม และ เงินดอกจันทน์ ) นอกจากนี้ยังมีเงินภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือเงินล้านนา ( เงินเจียง เงินใบไม้ เงินผักชี และเงินท๊อก ) และเงินช้าง ( เงินฮาง เงินฮ้อย เงินลาด และเงินลาดฮ้อย ) เงินตราเหล่านี้เป็นเงินตราก่อนมีการตั้งรัฐไทย จากลักษณะของลวดลายบนเงินตรา แสดงให้เห็นว่าชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากจีนบ้าง อินเดียบ้าง

 

เงินพดด้วง

สมัยกรุงสุโขทัยได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้ จึงถือได้ว่า " เงินพดด้วง” เป็นเงินตราของไทยโดยแท้ โดยมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร และใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานที่สุด ประมาณกว่า 600ปี ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยาจนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยรัชกาลที่5เงินพดด้วงผลิตด้วยมือ โดยทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ ทุบปลายทั้งสองข้างให้งอเข้าหากัน มีรูปร่างคล้ายลูกปืนโบราณ ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า"Bullet Coin” ในสมัยสุโขทัย ยังไม่มีการผูกขาดการผลิต เงินพดด้วง จึงมีความหลากหลายในเนื้อเงินที่ใช้ทำ ตลอดจนน้ำหนักและขนาด ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางการจึงห้ามราษฎรผลิตเงินตราขึ้นเอง เงินพดด้วงจึงได้มาตรฐาน และมีตราประทับ 2 ดวงเป็นสำคัญ คือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล เงินพดด้วงใช้หมุนเวียนอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน จนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเลิกผลิต หลังจากได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า เนื่องจากการค้ากับต่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว การผลิตเงินพดด้วงด้วยมือ จึงไม่ทันกับความต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะใช้เครื่องจักรผลิตแทน เพื่อความรวดเร็วทางการค้า ทรงขอให้คณะทูตที่กำลังจะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่กรุงลอนดอน ติดต่อซื้อเครื่องจักรเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเงิน จาก บริษัทเทเลอร์และชาลเลน ( Taylor & Challen Limited , Birmingham ) และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพ.ศ. 2400 มีชื่อเรียกว่า " โรงกษาปณ์สิทธิการ


เหรียญกษาปณ์ไทย

มีการผลิตเหรียญกษาปณ์รูปทรงแบนตามสมัยนิยมขึ้นแทนเงินพดด้วง ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำเหรียญกษาปณ์ตราพระเกี้ยวออกใช้ เหรียญที่สำคัญได้แก่ เหรียญเงินตราพระแสงจักร - พระมหามงกุฎ พระเต้า ซึ่งเป็นเหรียญแบนรุ่นแรก ผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เหรียญเงินบรรณาการ ผลิตจากเครื่องจักรที่สมเด็จพระนางเจ้า วิคตอเรีย ถวายเป็นราชบรรณาการ เหรียญอัฐโสฬส ผลิตเพื่อใช้เป็นเงินปลีกแทนเบี้ยหอย เหรียญนิกเกิลผลิตออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ได้ทรงปรับปรุงหน่วยเงินจาก ชั่ง ตำลึง บาท มาเป็น บาท และ สตางค์ เป็นต้น จนกระทั่งถึงเหรียญกษาปณ์ ที่ใช้อยู่ในยุคปัจจุบันนี้ สรุปได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ทั้งชนิดที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชนิดที่เป็นเหรียญที่ระลึกออกมาใช้มากที่สุด เนื่องจากพระองค์ทรงครองราชย์นานถึง 42 ปี เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตในรัชกาลที่ 6,7 และ 8 ส่วนใหญ่ใช้สตางค์ที่รู้จักกันดีก็คือ สตางค์มีรู ชนิด 10 สตางค์ 5 สตางค์ 1 สตางค์ และครึ่งสตางค์ และเลิกใช้สตางค์มีรูในสมัยรัชกาลที่ 8 นี้เอง สมัยรัชกาลที่ 9 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ทั้งชนิดที่ใช้หมุนเวียน รวมถึงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกต่างๆออกมามากมายหลายชนิด และสามารถนำมาใช้ชำระหนี้ได้ เช่นเดียวกับเงินหมุนเวียน เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเสด็จนิวัติ จากการเสด็จประพาสยุโรป และอเมริกา ในปี พ.ศ. 2504 และเหรียญอื่นๆอีกมากมาย บทบาทของเหรียญกษาปณ์เริ่มลดลง เมื่อการค้าขยายตัวขึ้น จนมีการริเริ่มนำเงินกระดาษมาใช้


ธนบัตรไทย

วิวัฒนาการของการใช้เงินกระดาษ หรือที่เรียกว่า " ธนบัตรไทย ” ตั้งแต่ " หมาย ” " ใบพระราชทานเงินตรา ” " อัฐกระดาษ ” " บัตรธนาคาร ” ซึ่งมีการนำออกมาใช้ครั้งแรก โดยธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ "ตั๋วเงินกระดาษ ” หรือ " เงินกระดาษหลวง ” มาจนกระทั่งถึงธนบัตรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ หลังจากรัชกาลที่4 ทรงขึ้นครองราชย์ไม่นาน ปรากฏว่ามีการทำเงินพดด้วงปลอมกันมาก พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการทำ " หมาย ” ขึ้นใช้ นับเป็นเงินกระดาษชนิดแรกของระบบเงินตราไทย ธนบัตรไทยได้มีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบ สี ระบบพิมพ์ วัสดุ และเทคนิคในการพิมพ์มาตลอดเวลา ธนบัตรที่มีชื่อแปลก ๆ เช่น " ธนบัตรหน้าเดียว ” ( แบบหนึ่งพิมพ์หน้าเดียว ) " ธนบัตรแบบไถนา ” (ด้านหลังเป็นรูปพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ) " ธนบัตรไว้ทุกข์ ” ( แบบพิมพ์ซึ่งเตรียมไว้ใช้ใน 4 รัฐมลายู ชนิดราคาหนึ่งดอลลาร์ และนำมาแก้เป็นชนิดราคา 50 บาท โดยใช้หมึกดำ และ แดง พิมพ์ทับอักษรจีนและมลายู ) " ธนบัตรแบบบุก ” หรือ " Invasion Note ” ( ทางการของทหารอังกฤษจัดพิมพ์ขึ้น เพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายหากสามารถบุกเข้ายึดพื้นที่ในประเทศไทยได้ )

 

ธนบัตรแบบต่างๆที่มีการจัดพิมพ์

ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่หนึ่ง เป็นธนบัตรแบบแรกของประเทศไทย ประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2445 - 2468
ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่สอง ประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2468 - 2471
ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่สาม ประกาศใช้สมัยรัชกาลที่ 7 กำหนดให้มีตราพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิมพ์ลงในธนบัตรเป็นครั้งแรก
ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่สี่ พิมพ์ออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ 8 มี 5 ชนิด คือ ราคา 1 บาท ( สีฟ้า ) 5 บาท ( สีม่วง ) 10 บาท ( สีน้ำตาล ) 20 บาท ( สีเขียวใบไม้ ) และ 1000 บาท ( สีแดงเข้ม )
ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่ห้า (รุ่นนายเล้ง ท่าฉาง) ธนบัตรรุ่นนี้พิมพ์ในประเทศญี่ปุ่น โดยขนส่งมาทางเรือแล้วขนขึ้นที่ท่าเรือสิงคโปร์ ลำเลียงมาทางรถไฟเพื่อเข้ากรุงเทพ ขณะที่เดินทางมาถึงสถานีท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ถูกคนร้ายถีบหีบธนบัตรจากตู้รถไฟ ซึ่งเป็นธนบัตรชนิดราคา 5 บาท 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท เหตุเกิด เมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งชาวบ้านเรียกธนบัตรรุ่นนี้ว่า " ธนบัตรไทยถีบ ” หรือ " ธนบัตรรุ่นนายเล้งท่าฉาง ” เพราะปลอมลายมือของ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ส่วน " ท่าฉาง ”เป็นชื่อสถานที่ที่คนร้ายถีบหีบธนบัตรลงมา รวมเป็นจำนวนเงินมูลค่าทั้งสิ้น 8,146,800 มาท
ธนบัตรแบบที่หก มี 2 ชนิดราคา คือ 20 บาทและ 100 บาท รูปพรรณของธนบัตรเหมือนแบบที่สี่
ธนบัตรแบบที่เจ็ด เป็นธนบัตรที่พิมพ์ใช้เองเหมือนแบบที่สี่และแบบที่หก
ธนบัตรแบบที่แปด มี 5 ราคาด้วยกัน คือ1 บาท 5 บาท 10 , 20 และ 100 บาท
ธนบัตรแบบที่เก้า เป็นธนบัตรที่ใช้กันนานมากคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2491- 2522
ธนบัตรแบบที่สิบ จัดพิมพ์โดย บริษัทโทมัส เดอ ลารู เป็นธนบัตรที่พิมพ์โดยบริษัทต่างประเทศรุ่นสุดท้าย หลังจากนั้นก็จัดพิมพ์ในประเทศไทยทั้งหมด
ธนบัตรแบบที่สิบเอ็ด ได้มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นธนบัตรรุ่นแรกที่จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ธนบัตรไทย ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ออกแบบธนบัตรเป็นช่างชาวอิตาเลียน
ธนบัตรโพลิเมอร์ เป็นเงินพลาสติกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้แทนธนบัตรกระดาษเป็นครั้งแรก จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกราคา 500 บาท แบบพิเศษ ( โพลิเมอร์ ) จำนวน1 ล้านฉบับ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเงินหมุนเวียน และในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ได้ออกใช้ธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 50 บาท แบบพิเศษ ( โพลิเมอร์ ) จำนวน 100 ล้านฉบับ

 

เหรียญทองคำ

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริ จัดทำเหรียญทองคำขึ้นควบคู่ไปกับเหรียญเงิน จึงทรงมีประกาศความว่า " … ตามอย่างเมืองอื่นที่เป็นเมืองแผ่นดินใหญ่ๆนั้น หลายเมืองเมื่อทองคำมีมากขึ้น ผู้ครองแผ่นดินเมืองนั้นๆก็คิดทำเป็นเหรียญทองมีตราหลวงเป็นสำคัญให้ราษฎรใช้ในการกำหนดราคานั้นๆ ไม่ต้องเกี่ยงน้ำหนักแลเนื้อทองตีราคากัน ผู้ใดได้ทองตราทองเหรียญไป เมื่อต้องการเงินมาขอขึ้นเงินต่อคลังหลวง ฤาเศรษฐีเจ้าทรัพย์ก็ได้ ตามกำหนดซึ่งพิกัดไว้ … " จึงเกิดคำว่า " ทองตรา " ขึ้น เหรียญทองคำที่ได้จัดทำขึ้น ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 มี 3 ขนาด ขนาดใหญ่ ราคา 8 บาท เทียบเท่ากับ เหรียญทองปอนด์สเตอร์ลิงก์ เรียกว่า " ทศ " ขนาดกลางราคา 4 บาท เรียกว่า " พิศ " ส่วนขนาดเล็ก ราคาสิบสลึง เรียกว่า " พัดดึงส์ " เทียบเท่า 1 ตำลึงจีน ในสมัยต่อมา มีการจัดทำเหรียญทองคำที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกที่จัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ระลึกเนื่องใน มหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก รวมถึงเหรียญที่ระลึก พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น

ข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง ม.รามคำแหง

บรรณานุกรม

" เงินตราโบราณ,” เสนาสาร. 41(803) : 36 – 45 ; ตุลาคม 2539.
จารุวรรณ กันทิมาพงษ์. " มารู้จักเหรียญกระษาปณ์กันเถอะ,” ธนารักษ์. 13(5) : 89 – 92 ; กันยายน – ตุลาคม 2533.
ใจทิพย์ อุไพพานิช. " ธนบัตรไทยในอดีต, ” หลักเมือง. 1(12) : 34 – 40 ; มีนาคม 2535.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. " ตำนานเงินตรา, ” วารสารวัฒนธรรมไทย. 21(2) : 21 – 30 ; กุมภาพันธ์ 2525.
เดือนฉาย เอกศาสตร์. " เหรียญกระษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคล, ” วารสาร ตราไปรษณียากร. 30(12) : 46 – 48 ; กรกฎาคม 2543.
ธนารักษ์, กรม. " เหรียญกษาปณ์ไทย, ” นิตยสารนักรบไทย. 21(9) ; 16 –25 ; มิถุนายน 2530.
นพวรรณ อภิชนสุข. " เงินตราเมืองไทย, ” สลากกินแบ่ง. 9(40) 17 – 22 ; สิงหาคม – กันยายน 2542.
ไปย์ญานี ศกุนะสิงห์. " พระเกี้ยวในเงินตราสยาม, ” จามจุรี. 4(1) : 2 – 3 ; มีนาคม – มิถุนายน 2543.
พ. รุ่งอดิเรก (นามแฝง). " ประวัติดวงตราเงินบาท, ” วารสารวัฒนธรรมไทย. 21(1) : 29 – 30 ; มกราคม 2525.
ภาวิตา สัมมาปิติ. " สาระน่ารู้เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ไทย, ” จันทรเกษม. 168 : 29 – 40 ; กันยายน – ตุลาคม 2525.
" เมื่อเหรียญกระษาปณ์กลับบ้าน, ” ธนารักษ์. 14(4) : 43 – 45 ; กรกฏาคม – สิงหาคม 2534.
ศันสนีย์ อุทุมมา. " จับจ่ายใช้สอยด้วย…โพลิเมอร์, ” NPC. 5(28) : 4 – 8 ; ตุลาคม 2540.